เทคนิคแซกโซโฟนจากโซนาตาของ ฟิล วูดส์ Saxophone Techniques from Sonata of Phil Woods

ธีรวัฒน์ วีระวิทยานันต์

Thirawat Weravittayanan

พรรษวุฒิ เสนา

Pansawut Sena

(Received: October 31, 2017; Revised: July 23, 2018; Accepted: September 25, 2018)

 

บทคัดย่อ

           บทความนี้ มุ่งสำรวจเทคนิคแซกโซโฟนจากบทเพลงโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ ในท่อนที่หนึ่ง โดยเป็นการจำแนกเทคนิคแซกโซโฟนที่พบ แล้วอธิบายรายละเอียดของแต่ละเทคนิค พบว่ามีเทคนิค แซกโซโฟนที่ใช้ในการบรรเลง 12 เทคนิค ได้แก่ ทังกิง, เลกาโต, เตนูโต, แอคเซินท์, ซตัคคาโต, มาร์คาโต, อัชชาคาตูรา, ทริล และ เชค, กลิซันโด, เบนด์, ฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ หรือ ดับเบิล เดนซิทิส์ และ อัลติซิโม เรจิซเตอร์ ซึ่งสามารถจำแนก ได้เป็น 3 ระดับขั้น คือ เทคนิคขั้นพื้นฐาน เทคนิคขั้นกลาง และเทคนิคขั้นสูง

คำสำคัญ : แซกโซโฟน เทคนิค โซนาตา ฟิล วูดส์

Abstract

           This article focused on surveying saxophone techniques from sonata for alto saxophone and piano by Phil Woods in the first movement. The saxophone techniques found were distinguished and each technique found was explained its details. It was found that there were 12 saxophone techniques produced: tonguing, legato, tenuto, accent, staccato, marcato, acciaccatura, trill and shake, glissando, bend, false fingerings or double densities and altissimo register. They can be divided into 3 levels: basic intermediate and advanced levels.

Keywords : Saxophone, Technique, Sonata, Phil Woods

-------------------------------

1 อาจารย์ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

2 Lecturer, Department of Music, Faculty of Humanities, Naresuan University

3 นิสิตภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

4 Student, Department of Music, Faculty of Humanities, Naresuan University

บทนำ

         หากจะกล่าวถึงนักแซกโซโฟนที่มีชื่อเสียงระดับโลกในปัจจุบัน ย่อมต้องมีชื่อของ ฟิล วูดส์ (Phil Woods) รวมอยู่ด้วย ซึ่ง ฟิล วูดส์ ไม่เพียงเป็นนักอัลโตแซกที่มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์เท่านั้น แต่เขายัง เป็นนักประพันธ์ และผู้นำวงดนตรีที่โดดเด่น รวมถึงยังได้รับการยกย่องอย่างสูงจากประชาคมดนตรีแจ๊ส เขา เป็นนักดนตรีที่ติดอันดับต้นๆ จากการสำรวจของนิตยสาร ดาวน์บีท (Downbeat Magazine) สื่อดนตรีแจ๊ส ที่มีอิทธิพลทั่วโลก นอกจากนี้ ยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรมมี (Grammy Award) 7 ครั้ง โดยได้รับ รางวัล 4 ครั้ง จากอัลบั้ม Images เมื่อปี ค.ศ.1975, Live from the Show Boat เมื่อปี ค.ศ.1977, More Live เมื่อปี ค.ศ.1982 และ At the Vanguard เมื่อปี ค.ศ.1983 (อนันต์ ลือประดิษฐ์, 2558) ด้วยความสามารถอัน โดดเด่น ทำให้เขาได้ร่วมงานกับนักดนตรีที่เป็นตำนานของดนตรีแจ๊สมากมาย เช่น ชาร์ลี บาร์เน็ท (Charlie Barnet), เบนนี กูดแมน (Benny Goodman), ควินซี โจนส์ (Quincy Jones), ธีโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk), เจอรีย์ มัลลิแกน (Gerry Mulligan), โอลิเวอร์ เนลสัน (Oliver Nelson) ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) เป็นต้น (Phil Woods Official Web Site, n.d.)

           แม้ว่า ฟิล วูดส์ จะเป็นนักดนตรีแจ๊ส แต่เขาก็ได้รับอิทธิพลจากดนตรีคลาสสิกด้วย เนื่องจาก ขณะศึกษาที่สถาบันดนตรีจูลลิอาร์ด (Juilliard Conservatory) เขาจำเป็นต้องเข้าเรียนวิชาเอกคลาสสิก คลาริเนท เพราะในเวลานั้น ที่สถาบันดนตรีจูลลิอาร์ด ยังไม่เปิดสอนวิชาเอกแจ๊สแซกโซโฟน โดยเขาคิดว่า อย่างน้อย ทางบ้านของเขาคงไม่ว่าอะไร หากเขาจะเรียนดนตรีคลาสสิก ถึงแม้ว่าเป้าหมายของเขา คือ ดนตรี แจ๊ส ก็ตาม (อนันต์ ลือประดิษฐ์, 2558) ซึ่งผลงานการประพันธ์ของ ฟิล วูดส์ ชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลของดนตรี คลาสสิกและดนตรีแจ๊สอย่างชัดเจน ก็คือ โซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ (Sonata for Alto Saxophone and Piano by Phil Woods)

          โซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ แต่เดิมมีชื่อว่าโฟร์ มูดส์ สำหรับอัลโต และเปียโน (Four Moods for Alto and Piano) เป็นบทเพลงซึ่งเกิดจากความต้องการของ ฟิล วูดส์ ที่จะ ผสานดนตรีแบบแผนคลาสสิกและดนตรีแจ๊สเข้าด้วยกัน โดยโซนาตาบทนี้ ประกอบด้วยสองส่วน คือ ทำนอง ที่ถูกประพันธ์ขึ้น และส่วนที่เว้นว่างไว้เพื่อการด้นสด (Space for Improvising) ซึ่งผู้ประพันธ์ต้องการ ให้ผู้บรรเลงนั้น บรรเลงอย่างไพเราะงดงาม ทั้งทำนองที่ถูกประพันธ์ขึ้นและการด้นสด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามัน เป็นมากกว่าการผสานดนตรีสองชนิดเข้าด้วยกัน เพราะมันเปี่ยมไปในวิญญาณของดนตรีแจ๊ส และใน ขนบธรรมเนียมแท้จริงที่สืบต่อมาจากดนตรีในยุคบาโรค (Dryden, 2011, p. 31; Morsax Music, n.d.)

          โซนาตาบทนี้ จัดเป็นบทเพลงคลาสสิกประเภทโซนาตา ในลักษณะโซโลโซนาตา (Solo Sonata) หรือ คลาสสิกโซนาตา (Classic Sonata) คือ เป็นโซนาตาที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีชนิดเดียว หรือสองชนิด แต่เน้นการแสดงออกของเครื่องดนตรีหลักชนิดเดียว โดยเครื่องดนตรีอีกชนิดทำหน้าที่เพียงบรรเลง ประกอบ (Accompaniment) เพื่อให้บทเพลงเกิดความสมบูรณ์ (ณรุทธ์ สุทธจิตต์, 2546, หน้า 144) ซึ่งโซนาตา สำหรับแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ มีแซกโซโฟนเป็นเครื่องดนตรีบรรเลงหลัก และมีเปียโนเป็น เครื่องดนตรีบรรเลงประกอบ

           บทความนี้ มุ่งสำรวจเทคนิคแซกโซโฟนที่พบในโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ เป็นการสำรวจเฉพาะท่อนที่หนึ่ง (First Movement) ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะทำนองส่วนที่ถูกประพันธ์ ขึ้นเท่านั้น ส่วนที่เว้นว่างไว้เพื่อการด้นสดไม่นำมากล่าวถึง เนื่องจาก ในการด้นสดนั้น ผู้บรรเลงแต่ละคนย่อมมีรูปแบบ ตลอดจนเทคนิคที่ใช้ในการด้นสดแตกต่างกัน หรือแม้แต่ผู้บรรเลงคนเดียวกันก็ตาม ในการ บรรเลงเพลงเดิม การด้นสดในแต่ละครั้งก็จะมีความแตกต่างกันออกไป จึงไม่สามารถยึดเป็นแบบแผนอย่าง เฉพาะเจาะจงได้

เทคนิคแซกโซโฟนจากโซนาตาของ ฟิล วูดส์

               เทคนิคแซกโซโฟนที่พบในท่อนที่หนึ่งของโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ มีทั้งหมด 12 เทคนิค ดังต่อไปน

1. Tonguing

โน้ตที่ไม่มีเครื่องหมายใดๆ กำกับอยู่ จะบรรเลงด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “ทังกิง” ซึ่งมาจากคำว่า “Tongue” ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ลิ้น นับเป็นเทคนิคพื้นฐานของเครื่องเป่าแทบทุกชนิด โดยเป็นการแบ่งเสียง โน้ตแต่ละตัวออกจากกัน ด้วยการยกบริเวณด้านบนส่วนหน้าของลิ้นขึ้นไปแตะด้านล่างของลิ้นแซกโซโฟน (Saxophone Reeds) แล้วตวัดลิ้นกลับมาที่เดิมอย่างรวดเร็ว เหมือนกับลักษณะของลิ้นในขณะที่พูดคำว่า “ทู” “ดู” “ทา” หรือ “ดา” คำใดคำหนึ่งต่อเนื่องกัน โดยที่ลมที่เป่าออกมายังคงมีความแรงเท่าเดิม เมื่อลิ้น แซกโซโฟนถูกสัมผัสก็จะหยุดการสั่นสะเทือนชั่วขณะ เสียงโน้ตที่เป่าออกมาจึงถูกแบ่งออกจากกันเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามหลักการเกิดเสียงที่ทราบกันดีโดยทั่วไป ว่าเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือน วิธีดังกล่าวจึงเป็นการ หยุดการสั่นสะเทือนของลิ้นแซกโซโฟนด้วยลิ้นของผู้บรรเลงชั่วขณะหนึ่งอย่างรวดเร็ว เทคนิคทังกิง ถูกพบในห้องที่ 6-8, 27, 33-36, 42-43, 75-76, 81-82, 119-120, 150-157 และ 164

 

2.Legato

       “เลกาโต” มีเครื่องหมายเป็นเส้นโค้ง (  ︵︶ ) เขียนกำกับไว้ด้านบนหรือด้านล่างกลุ่มโน้ต โดย เครื่องหมายเลกาโต ต้องใช้กับโน้ตที่มีระดับเสียงต่างกันตั้งแต่สองตัวขึ้นไป ซึ่งคำว่า “Legato” เป็นภาษา อิตาเลียน แปลว่า เรียบ หมายถึง ให้เล่นเสียงต่อเนื่องกัน (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 165) เสียง แซกโซโฟนที่บรรเลงด้วยเทคนิคเลกาโต จึงมีความราบเรียบต่อเนื่องกันไม่ขาดระยะ วิธีบรรเลงเทคนิคเลกาโตในแต่ละกลุ่ม ทำได้โดยการใช้ลมเดียวกันในการบรรเลง ร่วมกับการ เปลี่ยนนิ้วที่กดลงบนแป้นนิ้วเท่านั้น ส่วนอวัยวะภายในปากจะคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนกว่า จะจบโน้ตตัวสุดท้ายในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม โน้ตตัวแรกของกลุ่มโน้ตที่บรรเลงด้วยเทคนิคเลกาโต จำเป็น จะต้องใช้เทคนิคทังกิง เพื่อความชัดเจนของเสียง ส่วนโน้ตตัวที่สองเป็นต้นไป จึงจะใช้เพียงการเปลี่ยนนิ้ว ที่กดลงบนแป้นกด โดยไม่ต้องใช้เทคนิคทังกิง

         เทคนิคเลกาโต อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทคนิค “ซเลอ” (Slur) ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีเครื่องหมาย เสียง และวิธีบรรเลงเหมือนกันทุกประการ อนึ่ง เครื่องหมายเส้นโค้งที่อาจพบได้ในบทเพลงโดยทั่วไป อีกชนิดหนึ่ง คือ เครื่องหมาย “ทาย” (Tie) ซึ่งถึงแม้จะมีลักษณะเป็นเส้นโค้งเช่นเดียวกับเครื่องหมายเลกาโต แต่ทั้งสองเครื่องหมายมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เครื่องหมายทายจะใช้โยงโน้ตที่มีระดับเสียงเดียวกัน และอยู่ติดต่อกันทันที มีผลให้เสียงแรกที่เล่นนั้น ยังคงค้างอยู่จนจบถึงโน้ตตัวสุดท้ายที่ถูกโยง โดยไม่ต้อง เล่นซ้ำ(ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 313-314) ดังนั้น วัตถุประสงค์ของเครื่องหมายทาย จึงเป็นเพียง เครื่องหมายเพื่อการเพิ่มค่าโน้ตให้ยาวขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายกำกับเทคนิคในการบรรเลง

        ท่อนที่หนึ่งของโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ นั้น เทคนิคเลกาโต ถือว่า เป็นเทคนิคหลักที่ใช้ในการบรรเลง เนื่องจากมีการใช้เทคนิคนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งการใช้แบบใช้เทคนิค เลกาโตเพียงเทคนิคเดียว และแบบใช้เทคนิคเลกาโตร่วมกับเทคนิคอื่น หากแบ่งโน้ตตามกลุ่มที่ใช้ลมเดียวกัน ในการบรรเลง เทคนิคเลกาโตจะถูกพบในห้องที่ 9-11, 11-13, 13-14, 14-15, 15-17, 17-18, 18-19, 19-20, 20-23, 23-26, 36-37, 37-38, 38-39, 39-40, 40-41, 41-42, 42-43, 43-44, 44(2), 45, 46, 47(1), 47-48, 48(2), 49(1), 49(2), 50(1), 50-52, 52-53, 53-54, 54-55, 55-56, 56-57, 57-58, 58-59, 59-60, 60-64, 64-67, 67-69, 69-70, 70-73, 73-74, 74-75, 76-78, 78-80, 83-85, 87-89, 89-90, 90-92, 92-93, 93-96, 112-113,113-114, 114-115, 115-116, 116-117, 117-118, 118-119, 119-120, 120-121, 121(2), 122, 123, 124(1), 124-125, 145-146, 146-147, 147-148, 148-149, 159, 160 และ 161-163 อนึ่ง เลขหนึ่ง และเลขสองที่อยู่ในวงเล็บ หมายถึง มีการใช้เทคนิคเลกาโตที่แยกเป็นคนละลม แต่ใช้ต่อเนื่องกันในช่วงข้าม ห้อง หรือใช้ในห้องเดียวกัน โดยเลขหนึ่ง หมายถึง การใช้ครั้งที่หนึ่ง และเลขสอง หมายถึง การใช้ครั้งที่สองอีกนัยหนึ่ง เตนูโต เป็นเทคนิคที่ไม่ได้ต้องการการเคลื่อนไหวทางกายภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ แต่เป็น เพียงการที่ผู้ประพันธ์บทเพลงต้องการให้ผู้บรรเลงหน่วงเสียงโน้ตตัวนั้นๆ จึงเขียนเครื่องหมายเตนูโตกำกับไว้ เทคนิคเตนูโต ถูกพบในห้องที่ 5, 9, 13, 26, 32, 48, 75, 78, 81, 82, 159, 160 และ 163อนึ่ง เลขหนึ่ง และเลขสองที่อยู่ในวงเล็บ หมายถึง มีการใช้เทคนิคเลกาโตที่แยกเป็นคนละลม แต่ใช้ต่อเนื่องกันในช่วงข้าม ห้อง หรือใช้ในห้องเดียวกัน โดยเลขหนึ่ง หมายถึง การใช้ครั้งที่หนึ่ง และเลขสอง หมายถึง การใช้ครั้งที่สอง

       

3. Tenuto

     “เตนูโต” มีเครื่องหมายเป็นเส้นตรง ( _ ) เขียนกำกับไว้ด้านบนหรือด้านล่างของตัวโน้ต ซึ่งคำว่า เตนูโต มาจากภาษาอิตาเลียน หมายถึง หน่วงไว้ หรือยืดไว้ (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 309) เสียงแซกโซโฟนที่บรรเลงด้วยเทคนิคเตนูโต จึงมีการหน่วงเสียงมากกว่าโน้ตตัวอื่น โดย คำอธิบายที่ใช้กัน โดยทั่วไปสำหรับการบรรเลงเทคนิคเตนูโตก็คือ การเล่นโน้ตนั้นๆ ให้เต็มค่าโน้ตมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เตนูโต เป็นเทคนิคที่ไม่ได้ต้องการการเคลื่อนไหวทางกายภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ แต่เป็น เพียงการที่ผู้ประพันธ์บทเพลงต้องการให้ผู้บรรเลงหน่วงเสียงโน้ตตัวนั้นๆ จึงเขียนเครื่องหมายเตนูโตกำกับไว้ เทคนิคเตนูโต ถูกพบในห้องที่ 5, 9, 13, 26, 32, 48, 75, 78, 81, 82, 159, 160 และ 163

                     

 

4.Accent

         “แอคเซินท์” มีเครื่องหมายเหมือนกับเครื่องหมายมากกว่า คือ มีลักษณะเป็นหัวลูกศร ( > ) เขียนกำกับไว้ด้านบนหรือด้านล่างของตัวโน้ตที่ต้องการให้ผู้บรรเลงเน้นเสียงให้ดังมากกว่าโน้ตตัวอื่นเล็กน้อย โดยแอคเซินท์มาจากภาษาอังกฤษ แปลว่า การเน้นเสียง ซึ่งการเน้นเสียงด้วยเทคนิคแอคเซินท์ สามารถแบ่งได้ เป็นสองแบบหลักๆ คือ การใช้เทคนิคแอคเซินท์ร่วมกับเทคนิคทังกิง และการใช้เทคนิคแอคเซินท์ร่วมกับ เทคนิคเลกาโต

          การใช้เทคนิคแอคเซินท์ร่วมกับเทคนิคทังกิง ใช้ในกรณีโน้ตที่ถูกกำกับด้วยเครื่องหมายแอคเซินท์ เป็นโน้ตตัวแรกของกลุ่มโน้ตที่บรรเลงด้วยเทคนิคเลกาโต หรือเป็นโน้ตเดี่ยวที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มโน้ตเลกาโต ซึ่งโน้ตดังกล่าวเป็นโน้ตที่จำเป็นต้องใช้เทคนิคทังกิงอยู่แล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่าการเน้นเสียงในแบบนี้ เป็นการ ใช้เทคนิคทังกิงที่มีแรงกระแทกของเสียงและความดังมากกว่าเทคนิคทังกิงโดยปกติ

          ส่วนการใช้เทคนิคแอคเซินท์ร่วมกับเทคนิคเลกาโตนั้น จะใช้กับโน้ตในกลุ่มโน้ตเลกาโตใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ใช่โน้ตตัวแรกของกลุ่ม โดยเป็นการใช้ลมให้แรงขึ้นกับโน้ตตัวใดตัวหนึ่ง เพื่อกระแทกเสียงโน้ตตัวนั้นๆ ให้ดังกว่าโน้ตตัวอื่นในกลุ่ม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การใช้เทคนิคแอคเซินท์ร่วมกับเทคนิคเลกาโตจะมี เสียงที่ราบรื่นกว่า เนื่องจากมีแรงกระแทกของเสียงน้อยกว่าการใช้เทคนิคแอคเซินท์ร่วมกับเทคนิคทังกิง

          สังเกตได้ว่าในโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ ท่อนที่หนึ่งนั้น โน้ตที่ใช้ เทคนิคแอคเซินท์มักเป็นโน้ตในจังหวะยก (Upbeat) ซึ่งเป็นรูปแบบการเน้นจังหวะของดนตรีแจ๊ส ที่เรียกว่า “ซวิงฟีล” (Swing Feel) นอกจากนี้ ยังพบรูปแบบการเน้นจังหวะแบบดนตรีแจ๊สอีกประการหนึ่ง คือ การ ไม่เน้นจังหวะที่หนึ่งและจังหวะที่สามของห้อง ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะหนัก (Strong Beat) แต่เน้นจังหวะที่สอง และจังหวะที่สี่ ซึ่งเป็นจังหวะเบา (Weak Beat) ด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การใช้ตัวหยุด (Rest) บนจังหวะที่หนึ่ง หรือจังหวะที่สามของห้อง, การใช้โน้ตยาวบนจังหวะที่สอง เพื่อข้ามจังหวะที่สาม และการใช้เครื่องหมาย ทาย เพิ่มค่าโน้ตบนจังหวะที่สี่ เพื่อข้ามจังหวะที่หนึ่ง

          เทคนิคแอคเซินท์ร่วมกับเทคนิคทังกิง พบในห้องที่ 30, 31, 36, 37, 38, 39, 40, 41, 42, 43, 47, 81, 82, 113, 114, 115, 116, 117, 118, 119, 120, 124, 145, 146, 147 และ 148 ส่วนการใช้เทคนิค แอคเซินท์ร่วมกับเทคนิคเลกาโต พบในห้องที่ 45, 46, 47, 80, 122, 123 124, 159, 160 และ 161

                          

5. Staccato

          “ซตัคคาโต” คำนี้ มาจากภาษาอิตาเลียน หมายถึง ให้เล่นเสียงสั้น หรือเสียงขาด (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 294) ดังนั้น ซตัคคาโต จึงเป็นการกำหนดให้ผู้บรรเลงเล่นเสียงโน้ตให้สั้นกว่า ค่าโน้ตที่บันทึก แต่ไม่ต้องเน้นเสียง เทคนิคซตัคคาโต มีเครื่องหมายเป็นจุด ( . ) เขียนกำกับไว้ตรงกึ่งกลางของหัวโน้ต

          การบรรเลงเทคนิคซตัคคาโต จะใช้วิธีเดียวกับเทคนิคทังกิง แตกต่างกันตรงที่เสียงโน้ตจากเทคนิค ซตัคคาโตจะต้องขาดจากโน้ตตัวข้างเคียง จะไม่ต่อกันเหมือนเทคนิคทังกิง ลักษณะของลิ้นในการใช้เทคนิค ซตัคคาโต จะเหมือนกับในขณะที่พูดคำว่า “ดิ๊ด” โดยบริเวณด้านบนส่วนหน้าของลิ้นจะขึ้นไปแตะด้านล่าง ของลิ้นแซกโซโฟน แล้วคงไว้อย่างนั้น ยังไม่ตวัดลิ้นกลับมาที่เดิม จนกว่าจะถึงจังหวะของโน้ตตัวถัดไป ซึ่ง การบรรเลงเทคนิคซตัคคาโตด้วยวิธีนี้ ใช้กับโน้ตที่กำกับด้วยเครื่องหมายซตัคคาโตเพียงเครื่องหมายเดียว ไม่มีเครื่องหมายอื่นเข้ามาร่วมด้วย

       อย่างไรก็ดี เทคนิคซตัคคาโตสามารถใช้ร่วมกับเทคนิคเลกาโตได้ โดยโน้ตที่ใช้เทคนิคซตัคคาโตจะ อยู่ในกลุ่มโน้ตเลกาโต โดยมีชื่อเรียกเทคนิคเฉพาะว่า “เมดโส-ซตัคคาโต” (Mezzo-Staccato) โดยเทคนิค เมดโส-ซตัคคาโต มีการใช้ลมเดียวเหมือนกับเทคนิคเลกาโต แต่โน้ตที่มีเครื่องหมายซตัคคาโตกำกับไว้ จะใช้การเว้นช่วงการปล่อยลมเหมือนกับการออกเสียงคำว่า “อู” แบบเป็นจังหวะ (Langey, 1927, p. 79)

         การใช้เทคนิคซตัคคาโตร่วมกับเทคนิคเลกาโตอีกแบบหนึ่งที่พบได้เสมอ คือ การใช้เทคนิคเลกาโต โดยมีโน้ตที่ใช้เทคนิคซตัคคาโตเป็นโน้ตตัวสุดท้ายของกลุ่ม ซึ่งวิธีการบรรเลงจะเหมือนกับการบรรเลงเทคนิค เลกาโตทุกประการ ยกเว้นการจบเสียงโน้ตตัวสุดท้ายในกลุ่มจะห้วนกว่ากลุ่มโน้ตเลกาโตปกติ ซึ่งโซนาตา สำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ ท่อนที่หนึ่งนั้น เทคนิคซตัคคาโตทั้งหมด จะเป็นการใช้ร่วม กับเทคนิคเลกาโต แบบโน้ตที่ใช้เทคนิคซตัคคาโตเป็นโน้ตตัวสุดท้ายของกลุ่ม โดยพบในห้องที่ 45, 46, 122 และ 123 โดยไม่พบการใช้เทคนิคซตัคคาโตแบบใช้เพียงเทคนิคเดียว

6. Marcato

     “มาร์คาโต” เป็นเทคนิคที่กำหนดให้ผู้บรรเลงเน้นเสียงให้ดังมากกว่าโน้ตตัวอื่นเล็กน้อยเช่นเดียว กับเทคนิคแอคเซินท์ แต่แตกต่างกันตรงที่ค่าของโน้ตที่ทำการเน้นเสียง กล่าวคือ ค่าของโน้ตที่เน้นเสียงด้วย เทคนิคแอคเซินท์จะมีความยาวเท่ากับค่าโน้ตที่บันทึก ในขณะที่ค่าของโน้ตที่เน้นเสียงด้วยเทคนิคมาร์คาโต จะสั้นกว่าค่าโน้ตที่บันทึก หรืออีกนัยหนึ่ง การใช้เทคนิคมาร์คาโต ก็คือ การใช้เทคนิคแอคเซินท์ร่วมกับ เทคนิคซตัคคาโตนั่นเอง

     เครื่องหมายมาร์คาโต มีลักษณะเป็นหัวลูกศรชี้ขึ้น ( ^ ) เขียนกำกับไว้ด้านบนของตัวโน้ตเท่านั้น ซึ่งคำว่า มาร์คาโต มาจากภาษาอิตาเลียน แปลว่า เน้น (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 179) และอาจ เนื่องด้วยเครื่องหมายมาร์คาโตที่มีลักษณะคล้ายหน้าจั่วหลังคา จึงพบว่ามีการเรียกเทคนิคมาร์คาโตด้วย ชื่ออื่น ได้แก่ รูฟ ทอป แอคเซินท์ (Roof Top Accent) (Steinel, 2000, p. 4)

    การเน้นเสียงด้วยเทคนิคมาร์คาโต สามารถแบ่งได้เป็นสองแบบหลักๆ เช่นเดียวกับเทคนิคแอคเซินท์ คือ การใช้เทคนิคมาร์คาโตร่วมกับเทคนิคทังกิง และการใช้เทคนิคมาร์คาโตร่วมกับเทคนิคเลกาโต ซึ่งใน ท่อนที่หนึ่งของโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ พบการใช้เทคนิคมาร์คาโตเพียง ที่เดียวเท่านั้น คือ ในห้องที่ 125 โดยเป็นการใช้เทคนิคมาร์คาโตร่วมกับเทคนิคเลกาโต ส่วนการใช้เทคนิค มาร์คาโตร่วมกับเทคนิคทังกิง ไม่พบในท่อนที่หนึ่ง

7. Acciaccatura

     “อัชชาคาตูรา” เป็นภาษาอิตาเลียน หมายถึง เทคนิคการใช้โน้ตประดับเบียดเข้ามาอย่างรวดเร็ว ก่อนเข้าสู่โน้ตหลัก โดยเป็นโน้ตที่เล่นโดยไม่ต้องนับจังหวะ (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 3) มีเครื่องหมาย เป็นโน้ตตัวเล็กมีขีดทับ ( ) เขียนกำกับไว้ก่อนหน้าโน้ตหลักในระดับเสียงที่ต้องการบนบรรทัดห้าเส้น

     ประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนเกี่ยวกับเทคนิคอัชชาคาตูรา ก็คือ ควรจะเล่นก่อนจังหวะหลัก แล้วจึงเล่นโน้ตหลักบนจังหวะหลัก หรือเล่นบนจังหวะหลัก แล้วจึงตามด้วยโน้ตหลักที่เหลื่อมไปเล็กน้อย เช่น แอรอน เชียเรอร์ (Shearer, 1969, p. 23) ได้กล่าวว่า เทคนิคอัชชาคาตูราควรเล่นบนจังหวะหลัก โดยให้เล่น เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และไม่ต้องนับจังหวะของโน้ตอัชชาคาตูรา ในขณะที่ วิคตอเรีย วิลเลียมส์ (Williams, n.d.) ได้กล่าวว่า เทคนิคอัชชาคาตูราควรเล่นก่อนจังหวะหลัก โดยเป็นการขโมยความยาวโน้ตที่อยู่ก่อนหน้าโน้ต หลักมาใช้ เพื่อให้โน้ตหลักอยู่บนจังหวะหลักตามเดิม ส่วน นพพร ด่านสกุล (2543, หน้า 83) ได้กล่าวว่า เทคนิคอัชชาคาตูรามีวิธีการบรรเลง 3 แบบ คือ ก่อนจังหวะหลัก, บนจังหวะหลัก และ ตามหลังโน้ตหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการฟังโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ ท่อนที่หนึ่ง ที่บรรเลงโดยวิคเตอร์ โมรอสโค พบว่าเป็นการเล่นก่อนจังหวะหลัก แล้วจึงเล่นโน้ตหลักที่ยังอยู่บนจังหวะ หลักเดิม ซึ่งพบเทคนิคอัชชาคาตูรา ในห้องที่ 56, 57 และ 58

8. Trill และ Shake

     “ทริล” เป็นภาษาอังกฤษ แปลว่า การออกเสียงรัว มีเครื่องหมายเป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็ก ได้แก่ อักษรที (t) และอักษรอาร์ (r) เขียนติดกัน นอกจากนี้ อาจมีการเขียนเส้นคลื่น ต่อหลังตัวอักษร tr ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีเส้นคลื่นหรือไม่มีเส้นคลื่นก็ตาม ก็ไม่มีความแตกต่างกันในการบรรเลง (นพพร ด่านสกุล, 2543, หน้า 84) โดยเทคนิคทริล เป็นการเล่นโน้ตสองตัวสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว จัดเป็นเทคนิคการใช้โน้ตประดับ ชนิดหนึ่ง (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 320) โดยโน้ตสองตัวที่นำมาเล่นสลับกัน จะเป็นโน้ตที่บันทึก สลับกับโน้ตที่มีระดับเสียงสูงกว่าซึ่งอยู่ติดกันตามลำดับขั้นในบันไดเสียงนั้น ๆ หรือหากผู้ประพันธ์ต้องการ ให้โน้ตที่มีระดับเสียงสูงเป็นโน้ตนอกบันไดเสียง ก็จะเขียนเครื่องหมายทริลร่วมกับเครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental)

     ส่วน “เชค” มีเครื่องหมายเป็นภาษาอังกฤษคำว่า “Shake” แปลว่า การเขย่า ซึ่งอาจมีการเขียน เส้นคลื่นต่อหลังเช่นเดียวกับเทคนิคทริล โดยมีวิธีบรรเลงเหมือนกับเทคนิคทริลทุกประการ (Langey, 1927, p. 80; 1946, p. 63) อย่างไรก็ตาม ยังมีเทคนิคเชคสำหรับแซกโซโฟนซึ่งแตกต่างออกไป กล่าวคือ เป็น เทคนิคเชคที่มีวิธีการบรรเลงเหมือนกับเทคนิคทริล แต่ใช้กับโน้ตที่มีระดับเสียงสูงกว่าแค่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็น ต้องเป็นโน้ตซึ่งอยู่ติดกันตามลำดับขั้นของบันไดเสียง (Hugill, n.d.) เทคนิคเชคสำหรับแซกโซโฟนแบบนี้ มีลักษณะการบันทึกโน้ตเช่นเดียวกับเทคนิคฟิงเกอร์ เตรโมโล (Finger Tremolo) ของเครื่องดนตรีในกลุ่ม เครื่องสายสากล ซึ่งจะมีการกำหนดโน้ตที่มีระดับเสียงสูงกว่าไว้อย่างชัดเจน โดยบันทึกร่วมกับโน้ตที่มีระดับ เสียงต่ำกว่า ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บรรเลงทราบว่าต้องเล่นโน้ตตัวใดสลับกัน

     ในโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ ท่อนที่หนึ่ง พบการใช้เทคนิคทริลใน ห้องที่ 30, 31 และ 32 โดยทั้งหมดมีการเขียนเครื่องหมายแฟล็ทกำกับไว้ร่วมกับเครื่องหมายทริล ทำให้ เป็นการใช้เทคนิคทริลแบบเล่นโน้ตที่บันทึกสลับกับโน้ตนอกบันไดเสียงที่มีระดับเสียงสูงกว่าเป็นระยะครึ่งเสียง ส่วนการใช้เทคนิคเชค พบในห้องที่ 84, 85 และ 86 จากการฟังโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโน โดย ฟิล วูดส์ ท่อนที่หนึ่ง ที่บรรเลงโดยวิคเตอร์ โมรอสโค พบว่าเป็นเทคนิคเชคแบบเล่นโน้ตที่บันทึกสลับกับ โน้ตที่มีระดับเสียงสูงกว่าซึ่งอยู่ติดกัน ซึ่งมีการใช้เทคนิคเชคต่อเนื่องกันจำนวนสี่โน้ต โดยโน้ตตัวที่หนึ่งเป็นการ เล่นโน้ตที่บันทึกสลับกับโน้ตที่มีระดับเสียงสูงกว่าเป็นระยะหนึ่งเสียงเต็ม ส่วนโน้ตตัวที่สอง สาม และสี่ เป็นการเล่นโน้ตที่บันทึกสลับกับโน้ตที่มีระดับเสียงสูงกว่าเป็นระยะครึ่งเสียง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว พบว่าเท คนิคเชคทั้งหมดมีลักษณะการบรรเลงเหมือนกับเทคนิคทริลทุกประการ ในบทความนี้ จึงจัดให้เทคนิคทริล และเทคนิคเชคเป็นเทคนิคเดียวกัน

      

          

9. Glissando

     “กลิซันโด” เป็นภาษาอิตาเลียน หมายถึง การเล่นรูดเสียง (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 123) โดยเป็นเทคนิคที่ใช้บรรเลงโน้ตกลุ่มหนึ่งอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องกัน โน้ตสำคัญ คือ โน้ตตัวแรกและโน้ต ตัวสุดท้ายของกลุ่ม ซึ่งจะถูกบันทึกไว้ให้ผู้บรรเลงทราบว่าผู้ประพันธ์ต้องการให้รูดเสียงโน้ตตัวใดเข้าหา โน้ตตัวใด ส่วนโน้ตที่อยู่ระหว่างโน้ตตัวแรกและโน้ตตัวสุดท้ายของกลุ่ม จะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ โดยจะบรรเลง ให้เสียงผ่านไปอย่างรวดเร็ว และไม่ต้องนับค่าโน้ต

     เครื่องหมายกลิซันโด มีลักษณะเป็นเส้นคลื่น  เขียนอยู่ระหว่างหัวโน้ตตัวแรกและหัวโน้ต ตัวสุดท้ายของกลุ่ม วิธีบรรเลงจะใช้การเปลี่ยนระดับเสียงจากการเปลี่ยนตำแหน่งการกดบนแป้นนิ้วอย่าง รวดเร็ว โดยที่การวางปาก (Embouchure) ยังคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ตั้งแต่เล่นโน้ตตัวแรกจนจบ โน้ตตัวสุดท้ายของกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ยังมีเทคนิคกลิซันโดอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากเทคนิคกลิซันโด แบบแรก เรียกว่า ลิป กลิซันโด (Lip Glissando) หรือ ลิป ซเลอ (Lip Slur) ซึ่งมีวิธีบรรเลงตรงข้ามกับเทคนิค กลิซันโดแบบแรก กล่าวคือ เป็นเทคนิคกลิซันโดที่ไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่งการกดบนแป้นนิ้ว แต่ในการเปลี่ยน ระดับเสียงของโน้ตจะใช้การบีบปากเพื่อรัดเมาธ์พีซ (Mouthpiece) ให้แน่นขึ้น ในกรณีที่ต้องการรูดเสียงขึ้น หรือการผ่อนปากเพื่อคลายเมาธ์พีซ ในกรณีที่ต้องการรูดเสียงลง โดย ลิป กลิซันโด หรือ ลิป ซเลอ มี เครื่องหมายเป็นเส้นตรงเขียนอยู่ระหว่างหัวโน้ตตัวแรกและหัวโน้ตตัวสุดท้ายของกลุ่ม ซึ่งอาจมีการเขียน ภาษาอังกฤษ คำว่า “Lip” กำกับไว้ด้วย (Brown, 1983, p. 51)

     เทคนิคกลิซันโดในโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ ท่อนที่หนึ่ง พบเพียง ที่เดียวเท่านั้น คือ ในห้องที่ 91 ต่อห้องที่ 92 โดยเป็นเทคนิคกลิซันโดแบบใช้การเปลี่ยนตำแหน่งการกด บนแป้นนิ้วอย่างรวดเร็วเพื่อเปลี่ยนระดับเสียง โดยที่การวางปากคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

                 

10. Bend

“เบนด์” มีเครื่องหมายเป็นเส้นโค้ง คล้ายตัวอักษรยู (U) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคำว่า เบนด์ เป็นคำจาก ภาษาอังกฤษ แปลว่า หันเห โดยเป็นเทคนิคที่ทำให้ระดับเสียงโน้ตต่ำลงเล็กน้อย แล้วปรับระดับเสียง กลับสู่ที่เดิม วิธีการบรรเลงเทคนิคนี้ ทำได้โดยการเปลี่ยนวางปากเล็กน้อย กล่าวคือ เริ่มต้นเป่าในระดับเสียง โน้ตที่ได้มีการบันทึกไว้ แล้วผ่อนริมฝีปากล่างลงเล็กน้อยเพื่อคลายแรงรัดที่เมาธ์พีซ เพื่อทำให้ระดับเสียง ลดต่ำลงชั่วครู่ หลังจากนั้น บีบปากเพื่อรัดเมาธ์พีซให้แน่นเท่ากับตอนต้น เพื่อปรับระดับเสียงให้เท่าเดิม

     นอกจากนี้ การบรรเลงเทคนิคเบนด์ ยังสามารถทำได้โดยการเปลี่ยนตำแหน่งการกดบนแป้นนิ้ว หรือใช้การ เปลี่ยนการวางปากร่วมกับการเปลี่ยนตำแหน่งการกดบนแป้นนิ้ว (Steinel, 2000, p. 20) ซึ่งในโซนาตา สำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ ท่อนที่หนึ่ง พบเทคนิคเบนด์ในห้องที่ 88

                 

11. False Fingerings หรือ Double Densities

     “ฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์” แปลเป็นภาษาไทยว่า การเลือกใช้นิ้วปลอม ซึ่ง “นิ้วจริง” หมายถึง การกำหนด ระดับเสียงโน้ต โดยอาศัยรูปแบบการกดแป้นนิ้วที่เป็นไปตามระบบปกติ กล่าวคือ ใช้หลักการปิดเปิดของ นวมแซกโซโฟนที่ติดอยู่กับแป้นนิ้ว เพื่อกำหนดความยาวท่อในการเปลี่ยนระดับเสียง โดยหากกดแป้นนิ้ว เพื่อปิดนวมแซกโซโฟนทั้งหมด ความยาวท่อก็จะมีความยาวมาก ทำให้ได้ระดับเสียงต่ำ แต่หากไม่กด แป้นนิ้วด้านล่าง นวมแซกโซโฟนด้านล่างก็จะเปิด ทำให้ความยาวท่อสั้นลง เสียงก็จะสูงขึ้น

     ส่วน “นิ้วปลอม” หรือ ฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ หมายถึง รูปแบบการกดแป้นนิ้วที่ไม่ได้เป็นไปตามระบบ ปกติ แต่ยังคงให้ระดับเสียงโน้ตเหมือนกับรูปแบบการกดแป้นนิ้วตามระบบปกติ (Gabel and Villmow, 2012, p. 240) นิ้วปลอมเป็นการกำหนดระดับเสียงโน้ต โดยอาศัยหลักการของอนุกรมฮาร์โมนิกส์ (Harmonic Series) อันเป็นปรากฏการณ์สำคัญของเสียงที่นำมาใช้ในทางดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครื่องดนตรีกลุ่ม เครื่องสายและกลุ่มเครื่องเป่า โดยอนุกรมฮาร์โมนิกส์ประกอบด้วยความถี่พื้นฐานและความถี่ที่สูงกว่า (วาสิษฐ์ จรัณยานนท์, 2538, หน้า 5, 19) ซึ่ง “ความถี่ที่สูงกว่า” ดังกล่าว ก็คือระดับเสียงโน้ตที่เกิดขึ้นจาก การใช้เทคนิคฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์

     หากจะกล่าวให้ซับซ้อนน้อยลง เทคนิคฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ หรือนิ้วปลอม ก็คือ เป็นรูปแบบการกด แป้นนิ้วอีกแบบหนึ่งที่ “พ้องเสียง แต่ไม่พ้องรูป” กับนิ้วจริง นั่นเอง

    เมื่อนำนิ้วจริง และนิ้วปลอม มาใช้สลับไปมาต่อเนื่องกันในการบรรเลงโน้ตตัวเดียวกัน ก็จะได้เสียง โน้ตที่มีโทนเสียงแตกต่างกัน รวมถึงอาจจะมีระดับเสียงที่ต่างกันเล็กน้อย ซึ่งเป็นการสร้างสีสันในการบรรเลง แซกโซโฟนได้เป็นอย่างดี (Thomas, n.d.) ซึ่งจากการนำนิ้วจริง และนิ้วปลอม มาใช้สลับไปมานี่เอง จึงทำให้ เรียกเทคนิคฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ ได้อีกอย่างหนึ่งว่า เทคนิคดับเบิล เดนซิทิส์ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ความหนาแน่นคู่

     เครื่องหมายของเทคนิคดับเบิล เดนซิทิส์ ประกอบไปด้วยเครื่องหมายบวก (+) และเครื่องหมาย วงกลม ( ) วิลเลียม เบย์ (Bay, 1995, p. 16) ได้อธิบายว่า เครื่องหมายบวกใช้แทนนิ้วปลอม ซึ่งจะมีเสียง ไม่ชัดเจน และเครื่องหมายวงกลมใช้แทนนิ้วจริง ซึ่งมีเสียงชัดเจน โดยพบการใช้เทคนิคดับเบิล เดนซิทิส์ ในห้องที่ 87 และ 88

     ส่วนในห้องที่ 83 พบการใช้เครื่องหมายวงกลมเพียงอย่างเดียว ซึ่งในกรณีนี้ ไม่สามารถอธิบายได้ ด้วยคำอธิบายข้างต้น เพราะหากกำหนดให้เครื่องหมายวงกลม หมายถึง นิ้วจริง ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะใส่ เครื่องหมายวงกลมลงไปในการบันทึกโน้ต เนื่องจากไม่ได้สร้างความแตกต่างใด ๆ ในการบรรเลง ดังนั้น

     จึงต้องใช้คำอธิบายอื่นที่แตกต่างออกไป ซึ่งเครื่องหมายวงกลมที่เขียนกำกับไว้ที่โน้ต โดยไม่มีเครื่องหมาย บวกร่วมด้วยนั้น แอนดรูว์ ฮูกิลล์ (Hugill, n.d.) ได้อธิบายว่า เครื่องหมายวงกลมดังกล่าวเป็นเครื่องหมาย ฮาร์โมนิกส์ หมายถึง ให้เล่นเสียงโน้ตนั้น ๆ โดยเลือกใช้นิ้วที่เป็นโน้ตพิ้นฐานเสียงต่ำ (Fundamental Low Note) ซึ่งก็คือให้ใช้เทคนิคฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ เพื่อเล่นเสียงโน้ตนั้น ๆ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเครื่องหมายวงกลม ที่เขียนกำกับไว้ที่โน้ต โดยไม่มีเครื่องหมายบวกร่วมด้วย มีความหมายเดียวกับเครื่องหมายบวก
         

12. Altissimo Register

     “อัลติซิโม เรจิซเตอร์” ประกอบด้วยคำสองคำ โดยคำว่า อัลติซิโม มาจากภาษาอิตาเลียน หมายถึง ช่วงสูง (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 10) ส่วนคำว่า เรจิซเตอร์ มาจากภาษาอังกฤษ หมายถึง กลุ่มช่วงเสียง (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 254) ดังนั้น อัลติซิโม เรจิซเตอร์ ก็คือ เทคนิคในการเล่นโน้ต ที่มีระดับเสียงสูงกว่านิ้วจริงตามระบบปกติของแซกโซโฟน ซึ่งนิ้วจริงตามระบบปกติ จะมีระดับเสียงสูงสุด คือ โน้ตฟา หรือ ฟาชาร์ป เหนือเส้นน้อยเส้นที่สามด้านบนบรรทัดห้าเส้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบนิ้วที่ถูกออกแบบ มาของแซกโซโฟนแต่ละรุ่น

      เทคนิคอัลติซิโม เรจิซเตอร์ เป็นเทคนิคที่ใช้รูปแบบการกดแป้นนิ้วที่ไม่ได้เป็นไปตามระบบปกติ เพื่อให้เกิดระดับเสียงโน้ตจากความถี่ที่สูงกว่าตามหลักการของอนุกรมฮาร์โมนิกส์ เช่นเดียวกับเทคนิคฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ ซึ่งการใช้เทคนิคอัลติซิโม เรจิซเตอร์ มีความเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ได้แก่ การเลือกใช้รูปแบบ การกดแป้นนิ้ว, ลักษณะการวางปาก, ช่องว่างในปาก และตำแหน่งของลิ้น รวมถึง ความเร็ว จุดโฟกัส และ ทิศทางของลมในการเป่า (Ely and Van Deuren, 2009, p. 341; Heavner, 2013, p. 89)

     หากกำหนดให้โน้ตฟา เหนือเส้นน้อยเส้นที่สามด้านบนบรรทัดห้าเส้น เป็นนิ้วจริงตามระบบปกติ จะพบว่าในท่อนที่หนึ่งของโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ นั้น มีการใช้เทคนิค อัลติซิโม เรจิซเตอร์ ในห้องที่ 161, 163, 164 และ 165

     อนึ่ง เครื่องหมาย “8va” ที่บันทึกไว้ ไม่ใช่เครื่องหมายของเทคนิคอัลติซิโม เรจิซเตอร์ แต่เป็นตัวย่อ ของเครื่องหมายออตตาฟา (Ottava Sign) ซึ่ง ออตตาฟา เป็นภาษาอิตาเลียน หมายถึง ให้ทบคู่แปด หาก 8va อยู่เหนือตัวโน้ต แสดงว่าให้เล่นสูงขึ้นหนึ่งช่วงคู่แปด แต่ถ้า 8va อยู่ใต้ตัวโน้ต แสดงว่าให้เล่นต่ำลงหนึ่ง ช่วงคู่แปด (ณัชชา โสคติยานุรักษ์, 2547, หน้า 217) ดังนั้น ในห้องที่ 161 ถึง 165 จึงต้องเล่นด้วยเสียงสูง กว่าที่บันทึกไว้หนึ่งช่วงคู่แปด โดยในความเป็นจริงแล้ว อัลติซิโม เรจิซเตอร์ เป็นเทคนิคที่ไม่มีเครื่องหมาย กำกับ แต่ผู้บรรเลงจะทราบด้วยตนเองว่า หากโน้ตที่บันทึกไว้มีระดับเสียงที่สูงเกินที่จะเล่นด้วยนิ้วจริงตาม ระบบปกติได้ ก็ให้ผู้บรรเลงใช้เทคนิคอัลติซิโม เรจิซเตอร์

บทสรุป

     จากการสำรวจเทคนิคแซกโซโฟน ที่ใช้ในการบรรเลงบทเพลงโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และ เปียโนโดย ฟิล วูดส์ ในท่อนที่หนึ่ง มีทั้งหมด 12 เทคนิค ได้แก่ ทังกิง, เลกาโต, เตนูโต, แอคเซินท์, ซตัคคาโต, มาร์คาโต, อัชชาคาตูรา, ทริล และ เชค, กลิซันโด, เบนด์, ฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ หรือ ดับเบิล เดนซิทิส์ และ อัลติซิโม เรจิซเตอร์ ซึ่งสามารถจำแนกเทคนิคต่าง ๆ ได้เป็น 3 ระดับขั้น คือ เทคนิคขั้นพื้นฐาน เทคนิค ขั้นกลาง และเทคนิคขั้นสูง

      เทคนิคขั้นพื้นฐาน เป็นเทคนิคที่นักแซกโซโฟนปฏิบัติกันได้โดยทั่วไป ได้แก่ ทังกิง, เลกาโต, เตนูโต, แอคเซินท์, ซตัคคาโต และ มาร์คาโต โดยเทคนิคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ถือว่าเป็นเทคนิคที่ง่าย สามารถปฏิบัติ ได้โดยไม่ต้องใช้การฝึกฝนเท่าใดนัก

     เทคนิคขั้นกลาง เป็นเทคนิคที่ต้องใช้การฝึกซ้อมมากกว่าเทคนิคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ อัชชาคาตูรา, ทริล และ เชค, กลิซันโด และ เบนด์ เทคนิคเหล่านี้ นักแซกโซโฟนจำเป็นต้องมีการแบ่งการซ้อมในแต่ละห้อง ที่มีการใช้เทคนิคดังกล่าวออกเป็นส่วน ๆ อย่างเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ ก่อนการซ้อมจำเป็นต้องมีการ ศึกษาถึงการใช้นิ้ว และการวางปาก เพื่อให้การบรรเลงเกิดความต่อเนื่อง ราบรื่น และเป็นธรรมชาต

      เทคนิคขั้นสูง ที่พบในบทเพลงโซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ มี 2 เทคนิค ได้แก่ ฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ หรือ ดับเบิล เดนซิทิส์ และ อัลติซิโม เรจิซเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่มีความยากมาก ในการที่จะปฏิบัติให้ได้ระดับเสียงที่ถูกต้องตามทำนองที่ถูกประพันธ์ไว้ เนื่องจาก เทคนิคดังกล่าวต้องใช้รูปแบบ การกดแป้นนิ้วที่ไม่ได้เป็นไปตามระบบปกติ เพื่อให้เกิดระดับเสียงโน้ตจากความถี่ที่สูงกว่าตามหลักการของ อนุกรมฮาร์โมนิกส์ ซึ่งนักแซกโซโฟนมักพบปัญหาในการบรรเลง เช่น เมื่อเป่าแล้ว ไม่มีเสียงออกมา หรือมี เสียงออกมา แต่ไม่ใช่ระดับเสียงที่ต้องการ ดังนั้น การฝึกฝนเทคนิคขั้นสูง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมมา เป็นอย่างดี เช่น ค้นหารูปแบบการกดแป้นนิ้วที่เหมาะกับแซกโซโฟนเครื่องที่ใช้งานอยู่, ค้นหาการวางปาก ในองศาต่างๆ เพื่อให้ได้จุดโฟกัสที่สามารถสร้างระดับเสียงโน้ตที่ถูกต้อง รวมถึง การใช้ความเร็ว และทิศทาง ของลมในการเป่า นอกจากนี้ เทคนิคขั้นสูงยังต้องใช้ความพยายามและระยะเวลาในการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก จึงจะสามารถปฏิบัติได้อย่างชำนาญ ซึ่งความชำนาญ ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการก่อให้เกิดความมั่นใจ ในการบรรเลงเทคนิคขั้นสูงเหล่านี้ อันจะนำไปสู่การถ่ายทอดบทเพลงได้อย่างไพเราะและลึกซึ้ง ตรงตาม ความตั้งใจของผู้ประพันธ์

     โซนาตาสำหรับอัลโตแซกโซโฟน และเปียโนโดย ฟิล วูดส์ นอกจากจะเป็นบทเพลงที่เต็มเปี่ยมไป ด้วยคุณค่าทางด้านสุนทรียะทางดนตรีแล้ว ยังเป็นบทเพลงคลาสสิกประเภทโซนาตาที่แฝงไว้ด้วยเทคนิคแซกโซโฟนที่หลากหลาย บางเทคนิค ได้แก่ เบนด์, ฟอลซ์ ฟิงเกอริงส์ หรือ ดับเบิล เดนซิทิส์ และ อัลติซิโม เรจิซเตอร์ เป็นเทคนิคที่แทบจะไม่พบในบทเพลงคลาสสิกโดยทั่วไป แต่มักจะพบในบทเพลงแจ๊ส นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคนิคแอคเซินท์ เพื่อเน้นโน้ตจังหวะที่สองและจังหวะที่สี่ รวมถึงการเน้นโน้ตในจังหวะยกแบบ ซวิงฟีล โดยรูปแบบการเน้นจังหวะดังกล่าวเป็นรูปแบบการเน้นจังหวะของดนตรีแจ๊ส จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น สะท้อนถึงความต้องการของ ฟิล วูดส์ ที่จะผสานดนตรีแบบแผนคลาสสิกและดนตรีแจ๊สเข้าด้วยกัน จึงเป็น ความน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักแซกโซโฟน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักแซกโซโฟนคลาสสิก ที่จะเรียนรู้และฝึกฝน เทคนิคต่างๆ ที่พบในโซนาตาบทนี้ อันจะเป็นการเปิดมุมมองให้แก่การบรรเลง อีกทั้งยังสามารถต่อยอดเพื่อ เป็นแนวทางในการบรรเลงบทเพลงอื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

                                                   

  บรรณานุกรม

ณรุทธ์ สุทธจิตต์. (2546). สังคีตนิยม: ความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก(พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ณัชชา โสคติยานุรักษ์. (2547). พจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นพพร ด่านสกุล. (2543). ปฐมบททฤษฎีดนตรี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. วาสิษฐ์

จรัณยานนท์. (2538). สวนฯ เล่มน้อย. กรุงเทพฯ: พรานนกการพิมพ์

อนันต์ ลือประดิษฐ์. (7 ตุลาคม 2558). อาลัย ฟิล วูดส์ นักอัลโตแซ็กผู้จากไป. กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2560, จาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/668833

Bay, W. (1995). Mel Bay’s Complete Jazz Sax Book. Missouri: Mel Bay. Brown, J. R. (1983). How To Play Saxophone. Essex: International Music. Dryden, K. (2011). CD Reviews. The New York City Jazz Record, 10(116), 31 Ely, M. C. and Van Deuren, A. E. (2009). Wind Talk For Woodwinds: A Practical Guide To

     Understanding And Teaching Woodwind Instruments. New York: Oxford University Press. Gabel, D. and Villmow, M. (2012). Saxophone For Dummies. Ontario: John Wiley & Sons Canada. Heavner, T. L. (2013). Saxophone Secrets: 60 Performance Strategies For The Advanced Saxophonist.

 

          Plymouth: Scarecrow Press.

Hugill, A. (n.d.). The Orchestra: A User’s Manual: Saxophones: Effects. Retrieved June 23, 2017,

from http://andrewhugill.com/OrchestraManual/saxophone_effects.html

Langey, O. (1927). Practical Tutor For The Saxophone. London: Hawkes & Son. Langey, O. (1946). Langey - Carl Fischer Tutors For Saxophone. New York: Carl Fischer.

Morsax Music. (n.d.). Double Exposure. Retrieved February 8, 2016, from http://www.morsax.com/recordings.html

Phil Woods Official Web Site. (n.d.). Phil Woods : Biography & Selected Discography. Retrieved

      March 27, 2017, from http://www.philwoods.com/bios/phil-woods

Shearer, A. (1969). Classic Guitar Technique: Supplement 1: Slur, Ornament, And Reach - Development Exercises. California: Alfred.

Steinel, M. (2000). Alto Saxophone: Essential Elements For Jazz Ensemble: A Comprehensive Method For Jazz Style And Improvisation. Wisconsin: Hal Leonard

Thomas, P. (n.d.). Saxophone Tuition: Effects: False Fingerings. Retrieved June 29, 2017, from https://tamingthesaxophone.com/saxophone-false-fingerings

Williams, V. (n.d.). Grade Six Music Theory General Knowledge, Lesson C7a. Ornaments. Retrieved June 15, 2017, from https://www.mymusictheory.com/for-students/grade-6/ online-course/193-c7a-ornaments